ความหมายของการลงความคิดเห็นจากข้อมูล (Inference)
การลงความคิดเห็นจากข้อมูล หมายถึง การอธิบายผลที่ได้จากการสังเกต โดยใช้ความรู้เดิม ประสบการณ์เดิม และเหตุผลหรือเพิ่มความคิดเห็นส่วนตัวลงไปด้วย เป็นการตอบเกินข้อมูลที่สังเกต
การลงความคิดเห็นของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ฉะนั้นในข้อมูลชุดเดียวกัน การลงความคิดเห็นของคน 2 คน อาจแตกต่างกัน
ข้อแตกต่างระหว่างการสังเกตและการลงความคิดเห็นจากข้อมูล
การสังเกต เป็นการบอกสมบัติหรือลักษณะของวัตถุ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ โดยการใช้ประสาทสัมผัส เช่น หู ตา จมูก ลิ้น หรือกายสัมผัส ส่วนการลงความคิดเห็น เป็นการบรรยายหรืออธิบายผลของการสังเกต หรือการใช้ประสาทสัมผัสเข้าไปสัมผัสสิ่งของ หรือเหตุการณ์ให้ได้ข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเพิ่มความคิดเห็นส่วนตัวลงไปกับข้อมูลดังกล่าว ดังตัวอย่าง
ข้อมูลจากการสังเกต | การลงความคิดเห็นจากข้อมูล |
1. มีรถ 2 คัน 2. รถคันสีแดงลากรถคันสีเขียว | 1. รถคันสีแดง ลากรถคันสีเขียว เพราะรถคันสีเขียวเสีย 2. รถคันสีแดงลากรถคันสีเขียว เพราะรถคันสีเขียวน้ำมันหมด |
การลงความคิดเห็นที่เชื่อถือได้นั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 4 ประการ ดังนี้
1. ความถูกต้องของข้อมูล ถ้าข้อมูลไม่ถูกต้องการลงความคิดเห็นก็จะไม่ถูกต้องด้วย
2. ความกว้างของข้อมูล คือต้องมีข้อมูล มากเพียงพอและหลายๆด้าน ฉะนั้นการสังเกตและการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม จะนำไปสู่คำตอบที่ถูกต้องได้
3. ประสบการณ์เดิม เพราะการลงความคิดเห็นนั้นส่วนหนึ่งจะเกี่ยวข้องกับประสบการณ์เดิมที่เราเคยพบเหตุการณ์นั้น ๆ ถ้าประสบการณ์เดิมเราเชื่อถือได้มาก โอกาสถูกก็มีมากด้วย
4. ความสามารถในการมองเห็น เราสามารถใช้หลักฐานให้เป็นประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด เป็นต้น
ประโยชน์ของการลงความคิดเห็นจากข้อมูล มีดังนี้
1. ใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการสังเกต
2. ช่วยแนะสิ่งที่สงสัย
3. ช่วยแนะสาเหตุของปรากฏการณ์
4. ช่วยแนะสมมติฐาน
5. ช่วยแนะแหล่งที่มาของปรากฏการณ์
6. ช่วยบอกสาเหตุของปรากฏการณ์ที่แน่นอนได้